อิสราเอลเปิดฉากโจมตีสถานที่ราชการของรัฐบาลซีเรียและเป้าหมายอื่นๆ นับตั้งแต่วันจันทร์ (14 ก.ค.) โดยระบุว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อ ‘ปกป้องชนกลุ่มน้อยดรูซ’ หลังจากเกิดเหตุความรุนแรงทางศาสนาในจังหวัดซูไวดา ทางตอนใต้ของซีเรีย
ทำไมอิสราเอลถึงโจมตีซีเรีย...?
เมื่อวันอาทิตย์ (13 ก.ค.) มีรายงานการลักพาตัวพ่อค้าชาวดรูซในพื้นที่จังหวัดซูไวดา ทางตอนใต้ของซีเรีย ซึ่งเหตุการณ์นี้กลายเป็นชนวนความรุนแรงรอบใหม่ระหว่างชนกลุ่มน้อยดรูซกับเบดูอิน ชนเผ่าอาหรับ ที่กินเวลาหลายวันจนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก
ต่อมาในวันอังคาร (15 ก.ค.) อิสราเอลได้เข้าแทรกแซงทางทหาร โดยระบุว่ากองกำลังของอิสราเอลกำลังพยายามปกป้องชาวดรูซและกำจัดกองกำลังฝ่ายรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าโจมตีพวกเขาในซูไวดา
การโจมตีของอิสราเอลครั้งล่าสุดนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเตือนและยับยั้งกองทัพซีเรียที่กำลังประจำการอยู่ทางตอนใต้ของซีเรีย ซึ่งอิสราเอลพยายามสร้างเขตปลอดทหารในพื้นที่ดังกล่าว ในทางเทคนิคแล้ว อิสราเอลทำสงครามกับซีเรียมานานหลายทศวรรษ แต่อิสราเอลระบุว่าจะไม่ยอมรับกองกำลังของรัฐบาลที่นำโดยกลุ่มอิสลามิสต์ในพื้นที่ทางใต้ของประเทศ โดยเฉพาะเขตชายแดนที่ติดกับเขตราบสูงโกลันซึ่งอิสราเอลยึดครองอยู่
อิสราเอลเริ่มโจมตีทางอากาศอย่างหนักต่อรัฐบาลซีเรีย นับตั้งแต่กองทัพซีเรียได้เข้าประจำการในจังหวัดซูไวดา ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชนกลุ่มน้อยดรูซ ทางตอนใต้ของประเทศ หลังจากเกิดการปะทะรุนแรงระหว่างชนกลุ่มน้อยดรูซกับกลุ่มชนเผ่าเบดูอิน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ทั้งนี้ อิสราเอลได้ประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวในการตอบโต้สถานการณ์ในซีเรีย โดยยืนยันว่าจะยกระดับการโจมตีทางทหารอย่างต่อเนื่อง หากกองกำลังของรัฐบาลซีเรียไม่ถอนตัวออกจากพื้นที่ทางใต้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดซูไวดา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลักของชนกลุ่มน้อยดรูซ
เมื่อวันพุธ (16 ก.ค.) ที่ผ่านมา อิสราเอลได้ดำเนินการโจมตีทางอากาศใส่กองบัญชาการกองทัพซีเรียในกรุงดามัสกัส ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารเดียวกับกระทรวงกลาโหมของซีเรีย การโจมตีนี้ถือเป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่รุนแรงที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา และเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ในซีเรียตอนใต้ที่ทวีความรุนแรงขึ้น
สื่อของรัฐซีเรีย รายงานว่าอิสราเอลได้โจมตีทางอากาศอีกครั้งต่อบริเวณกองบัญชาการกองทัพในกรุงดามัสกัส ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขซีเรียแจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 34 รายจากเหตุโจมตีต่อเนื่องครั้งนี้
ตามรายงานของหอสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรีย (Syrian Observatory for Human Rights / SOHR) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 รายตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ (13 ก.ค.) ผ่านมา จากเหตุปะทะอย่างรุนแรงระหว่างชนกลุ่มน้อยดรูซ ชนเผ่าเบดูอิน กองกำลังรัฐบาลซีเรีย และจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในจังหวัดซูไวดา ในจำนวนนี้เป็นกองกำลังรัฐบาล 165 ราย และพลเรือนดรูซ 27 ราย
ด้านรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล อิสราเอล คัตซ์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (16 ก.ค.) ที่ผ่านมา เรียกร้องให้กองทัพรัฐบาลซีเรียถอนกำลังออกจากพื้นที่ภาคใต้โดยทันที โดยย้ำว่า “กองทัพอิสราเอลจะ ‘ปฏิบัติการอย่างหนักแน่น’ ในซูไวดาเพื่อโค่นล้มกองกำลังทั้งหมดที่โจมตีชาวดรูซ จนกว่ากองทัพซีเรียจะถอนตัวออกไปทั้งหมด”
ขณะที่รัฐบาลซีเรียออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าเป็น ‘การยกระดับสถานการณ์อย่างอันตราย’ และยืนยัน ‘สิทธิอันชอบธรรมในการปกป้องดินแดนและประชาชนของตัวเอง’ จากการรุกรานภายนอก พร้อมขู่ว่าจะดำเนินมาตรการตอบโต้ที่เหมาะสมหากถูกคุกคามต่อไป
นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2024 เมื่อกลุ่มของอะห์เหม็ด อัล-ชาอ์รา นำกำลังโค่นล้มระบอบบาชาร์ อัล-อัสซาดที่ปกครองซีเรียยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ อิสราเอลก็ได้โจมตีฐานทัพในซีเรียหลายร้อยครั้ง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลชุดใหม่
นอกจากนี้ อิสราเอลยังได้ส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในเขตกันชนปลอดทหารบนที่ราบสูงโกลัน ซึ่งตามข้อตกลงปี 1974 จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติและเป็นพื้นที่ที่ ‘ห้ามมีกองกำลังถาวร’ ของทั้งสองฝ่าย
แล้ว ‘ชาวดรูซ’ เป็นใคร...ทำไมอิสราเอลต้องปกป้อง

ชาวดรูซเป็นชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาอาหรับ อาศัยอยู่ในซีเรีย เลบานอน อิสราเอล และที่ราบสูงโกลันที่ถูกอิสราเอลยึดครอง โดยศาสนาดรูซเป็นศาสนาลึกลับ (esoteric religion) ที่แยกตัวจากนิกายชีอะห์อิสลามตั้งแต่ศตวรรษที่ 11
ดรูซทั่วโลก มีประมาณ 1 ล้านคน และราวครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในซีเรียซึ่งคิดเป็นประมาณ 3% ของประชากรทั้งหมด สำนักงานสถิติกลางอิสราเอลระบุว่ามีชาวดรูซประมาณ 152,000 คนอาศัยอยู่ในอิสราเอลและที่ราบสูงโกลัน และชุมชนดรูซในอิสราเอลส่วนใหญ่ถือว่ามีความภักดีต่อรัฐอิสราเอล เนื่องจากสมาชิกมีส่วนร่วมในการรับราชการทหาร
ในอดีต ชนกลุ่มน้อยดรูซในซีเรียมีประวัติการดำรงอยู่ในจุดที่เปราะบางทางการเมือง แม้จะมีบทบาทสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์การต่อต้านอาณานิคมและยุคสร้างรัฐสมัยใหม่ แต่เมื่อรัฐรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น ดรูซจึงจำเป็นต้องวางตัวเป็นกลางระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อความอยู่รอดของชุมชนตัวเอง
นับตั้งแต่การล่มสลายของบาชาร์ อัล-อัสซาดในเดือนธันวาคม 2024 ชุมชนดรูซก็มีท่าทีต่อต้านและระวังตัวต่อความพยายามของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะสถาปนาอำนาจและเข้าควบคุมพื้นที่ชาวดรูซ แม้รัฐบาลซีเรียจะแสดงท่าทีประณามการโจมตีชนกลุ่มน้อยดรูซและสัญญาจะนำความสงบกลับคืนสู่ซีเรียใต้ แต่ในทางปฏิบัติ กองกำลังของรัฐกลับถูกกล่าวหาว่าร่วมปฏิบัติการรุนแรงต่อชาวดรูซด้วยเช่นกัน
(Photo by Rami al SAYED / AFP)