ครั้งหนึ่งเมื่อ มาร์ติน แวน บูเรน ประธานาธิบดีคนที่ 8 ของสหรัฐฯ เคยได้รับของขวัญสุดหรูจากสุลต่าน ได้แก่ สิงโต 2 ตัวจากสุลต่านโมร็อกโกในปี 1839 รวมถึงม้า ไข่มุก และสิ่งของมีค่าอื่นๆ จากสุลต่านโอมานในปี 1840 แต่ประธานาธิบดีแวน บูเรนเข้าใจดีว่าการรับของขวัญเหล่านี้เป็น ‘การฝ่าฝืนกฎหมาย’ เขาจึงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญด้วยการส่งเรื่องไปยังรัฐสภาเพื่อขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรต่อไป
รัฐสภาจึงตัดสินว่าของขวัญเหล่านี้ ‘ไม่สามารถเป็นของส่วนตัว’ ของประธานาธิบดีแวน บูเรน ได้ ในที่สุดสิงโตก็ถูกส่งไปไว้ที่สวนสัตว์ ส่วนม้าก็ถูกขายออกไป และไข่มุกถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน
และตอนนี้...ทรัมป์กำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน...
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะแสดงความต้องการรับเครื่องบินโบอิ้ง 747 มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท) จากราชวงศ์กาตาร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องบินประจำตำแหน่ง (Air Force One) ซึ่งเป็นแนวทางที่แตกต่างจากหลักปฏิบัติและกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่แวน บูเรนได้ยึดถือไว้
“ผมอาจเป็นคนโง่ที่พูดว่า ‘โอ้ ไม่ เราไม่เอาเครื่องบินฟรี แต่เราก็แจกของฟรีให้คนอื่น เราก็จะรับเครื่องบินนี้ด้วย’” ทรัมป์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (12 พ.ค.)
แต่คำถามก็คือ “ทรัมป์สามารถรับเครื่องบินนี้ไว้ได้หรือไม่?”
ทำเนียบขาวระบุว่า “รายละเอียดทางกฎหมายยังอยู่ระหว่างการพิจารณา...ของขวัญนี้จะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดี” ขณะที่กาตาร์เผยว่า “ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ” อย่างไรก็ตาม แผนการของทรัมป์นั้นยังติดปัญหาอยู่หลายประการ
-ปัญหาประการแรกคือ ‘เรื่องทางกฎหมาย’-
หากทรัมป์รับเครื่องบินหรูนี้ อาจเป็นการ ‘ละเมิด’ ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า ‘emoluments clause’ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ประธานาธิบดีต้องขออนุญาตจากรัฐสภาก่อนรับของขวัญจากต่างประเทศ”
“ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใดในรัฐบาลสหรัฐฯ จะรับของขวัญ เงิน หรือสิทธิพิเศษใดๆ จากกษัตริย์ เจ้าชาย หรือรัฐต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐสภา”
— รัฐธรรมนูญตอนหนึ่งระบุ
ส่วนตัวทรัมป์เองก็ดูจะไม่ได้กังวลอะไรกับข้อกฎหมายนี้เท่าใดนัก เพราะตัวเขาเองก็ทำเรื่องท้าทายกฎหมายอยู่หลายครั้ง “หากเราสามารถจัดหาเครื่องบิน 747 ให้กับกระทรวงกลาโหมเพื่อใช้ในช่วง 2-3 ปีระหว่างที่พวกเขากำลังสร้างเครื่องบินรุ่นใหม่อยู่นั้น ผมคิดว่ามันเข้าท่ามาก” ทรัมป์ กล่าว
-ปัญหาด้านจริยธรรม...-
“การผสมผสานระหว่างผลประโยชน์ทางการเงินส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์กับตำแหน่งประธานาธิบดีสร้างปัญหาหลายประการ โดยประธานาธิบดีในอดีตมักขายทรัพย์สิน หรือโอนเข้ากองทรัสต์ที่ไม่ทราบข้อมูล (blind trust) เพราะมันสร้างความกังวลว่าประธานาธิบดีอาจกระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ” เจสสิกา ทิลลิปแมน อาจารย์กฎหมายจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าว
นอกเหนือจากคำถามทางกฎหมายแล้ว ทิลลิปแมนยังชี้ว่าปัญหาทางจริยธรรมก็ชัดเจน เมื่อใดก็ตามที่ทรัมป์ติดต่อกับกาตาร์ ของขวัญชิ้นนี้จะเป็นเรื่องน่าจับตามองต่อสาธารณชน แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามต่อไปว่าทรัมป์จะมีการดำเนินการอย่างเป็นทางการใดๆ หรือไม่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง
สหรัฐฯ จะไว้วางใจเครื่องบินที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลต่างประเทศได้หรือไม่?

“การใช้เครื่องบินที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลต่างประเทศมาเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะได้รับความไว้วางใจจากหน่วยรักษาความปลอดภัยลับ (Secret Service)”
— การ์เรตต์ กราฟฟ์ นักประวัติศาสตร์ประธานาธิบดี กล่าว
กราฟฟ์อธิบายต่อว่า “ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช เคยใช้เวลา 8 ชั่วโมงบนเครื่องบิน ‘Air Force One’ เครื่องบินเดียวที่ได้รับอนุญาตให้บินในน่านฟ้าสหรัฐฯ ในช่วงที่ประเทศถูกโจมตี รอบตัวประธานาธิบดีจะมีการป้องกันหลายชั้นและมีระบบสื่อสารที่ปลอดภัยสูงสุด” ซึ่งรายละเอียดส่วนใหญ่เป็นความลับ
“การนำเครื่องบินที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลต่างประเทศมาเป็นศูนย์กลางวงจรป้องกันเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ทั้งในแง่ของการต่อต้านข่าวกรองและความปลอดภัยทางกายภาพ”
แม้ว่าจะมีการรื้อถอนเครื่องบินจนเหลือแต่โครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดความเสี่ยงจากการดักฟัง การติดตาม การโจมตีทางไซเบอร์ หรือการวางเพลิง แต่ถึงอย่างนั้น “ผมก็จะไม่ยอมให้ประธานาธิบดีใช้เครื่องบินลำนั้น” กราฟฟ์ กล่าว
ดังนั้น จากมุมมองด้านความปลอดภัย การใช้เครื่องบินที่เคยถูกควบคุมโดยรัฐบาลต่างประเทศมาเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีจึงมี ‘ความเสี่ยงสูง’ และไม่น่าเป็นไปได้ที่หน่วยรักษาความปลอดภัยลับจะไว้วางใจ
(Photo by SAUL LOEB / AFP)