แม้กว่า 165 ประเทศจะร่วมลงนามใน ‘อนุสัญญาออตตาวา’ (Ottawa Treaty) ที่ว่าด้วยการห้ามการใช้ การผลิต การครอบครอง การส่งโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และการทำลายทุ่นระเบิด หรือที่เรียกว่า ‘สนธิสัญญาห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล’ (Mine Ban Treaty) อันเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อยุติการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั่วโลก
แต่ในปัจจุบัน ประเทศที่เป็นสมาชิก NATO ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซียได้ดำเนินการถอนตัว หรือแสดงเจตนาที่จะถอนตัวจากอนุสัญญานี้ไปแล้ว ได้แก่ ฟินแลนด์ โปแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย รวมถึงยูเครนด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า ‘เพื่อความมั่นคงของประเทศในภาวะภัยคุกคามทางทหารที่เพิ่มขึ้นจากรัสเซีย’
ส่วนประเทศที่ไม่ร่วมลงนามแต่แรกนั้นก็มีรายงานสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอยู่เรื่อยมา ซึ่งสูงสุดถึง 26 ล้านทุ่น นั่นก็คือ ‘รัสเซีย’ และยังใช้ทุ่นระเบิดเหล่านี้อย่างกว้างขวางตามแนวหน้าในสงครามกับยูเครน
SPACEBAR พาไปดูแหล่งสะสม ‘ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล’ ที่ใหญ่สุดว่ามีที่ไหนบ้าง...
.jpg&w=3840&q=75)
รัสเซีย / 26 ล้านทุ่น
แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะระบุจำนวนที่แน่นอนของทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในคลังอาวุธของรัสเซียในปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่ารัสเซียมีทุ่นระเบิดจำนวนมาก และใช้สู้รบในแนวหน้ากับยูเครนอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะทุ่นระเบิด ‘PFM-series’ ที่มักจะปล่อยลงจากโดรนเพื่อให้กระจายในพื้นที่เมืองและชนบท
รายงานในปี 2004 ระบุว่ารัสเซียมีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลประมาณ 26.5 ล้านทุ่น และมีแผนจะทำลายคลังส่วนใหญ่ภายในปี 2015 หลังจากนั้นรัสเซียก็ไม่ได้รายงานจำนวนที่อัปเดตตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งในปี 2024 รายงานล่าสุดขององค์กรต่อต้านทุ่นระเบิด ‘International Campaign to Ban Landmines’ (ICBL) ก็ยังระบุจำนวนที่ 26 ล้านทุ่นเช่นเดิม และเหมือนจะเป็นคลังใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
ปากีสถาน / 6 ล้านทุ่น (ประมาณการ)
ปากีสถานมีคลังสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคลประมาณ 6 ล้านทุ่น ถือเป็นคลังทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากรัสเซีย ตามรายงานของ ICBL ระบุว่า ในปี 2014 ปากีสถานยังคงเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างต่อเนื่อง และยังไม่ได้รายงานข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับการทำลายคลังระเบิดตั้งแต่ปี 2020
ประเทศนี้ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาออตตาวา แต่มีการยืนยันว่าปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในการจำกัดการใช้ทุ่นระเบิดดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ทางการป้องกันประเทศ โดยทุ่นระเบิดที่ผลิตนั้นถูกติดตั้งระบบทำลายตัวเองตามข้อกำหนดของพิธีสารฉบับที่ 2 ของอนุสัญญาเจนีวา (Additional Protocol II)
อินเดีย / 4–5 ล้านทุ่น (ประมาณการ)
อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาออตตาวา และยังคงสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในจำนวนที่ไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอินเดียไม่ได้รายงานข้อมูลเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับขนาดคลังทุ่นระเบิดสังหารบุคคลของตัวเองต่อองค์กรระหว่างประเทศ
แต่แหล่งข่าวและผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอินเดียมีคลังทุ่นระเบิดสังหารบุคคลจำนวนหลายล้านทุ่น โดยประมาณการว่าอาจมีคลังขนาดใหญ่เนื่องจากความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ตามแนวชายแดนกับปากีสถาน ขณะที่ ICBL รายงานว่า อินเดียอาจสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไว้ราว 4-5 ล้านทุ่น
แม้อินเดียเลือกที่จะไม่เข้าร่วมอนุสัญญาออตตาวา แต่ก็ได้เข้าร่วมในพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติม (Amended Protocol II) ของอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธธรรมดาบางชนิด (CCW) ซึ่งจำกัดการใช้ทุ่นระเบิดที่มีผลต่อประชากรพลเรือน แต่ไม่ห้ามการผลิต หรือสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมด
จุดยืนของอินเดียสะท้อนถึงความกังวลด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะบริเวณเส้นควบคุมชายแดน (LoC) กับปากีสถานที่ยังคงมีการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอยู่ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเรื่องผลกระทบทางด้านมนุษยธรรมและความปลอดภัยของประชาชนชายแดน แต่รัฐบาลอินเดียยังคงรักษาคลังทุ่นระเบิดเหล่านี้ไว้ในฐานะเครื่องมือทางยุทธศาสตร์
จีน / น้อยกว่า 5 ล้านทุ่น
เนื่องจากจีนไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาออตตาวา ด้วยเหตุนี้ จีนจึงไม่มีข้อผูกมัดในการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับจำนวนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่จีนครอบครองอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคล แต่การผลิตดังกล่าวได้ลดลงจากเดิมอย่างมาก เพราะจีนได้เข้าร่วมและให้สัตยาบันในพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติม (Amended Protocol II) ของอนุสัญญา CCW
แต่มีการคาดการณ์ว่า จีนอาจสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคลน้อยกว่า 5 ล้านทุ่น ซึ่งลดลงอย่างมากจากการประมาณการครั้งก่อนที่เคยประมาณการไว้ที่ 110 ล้านทุ่น
สหรัฐฯ / 3 ล้านทุ่น
สหรัฐฯ มีคลังสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในปริมาณที่เหลืออยู่น้อยมาก เนื่องจากเลิกผลิตตั้งแต่ปี 1997 และได้ทำลายระเบิดจากคลังสำรองไปอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยคลังระเบิดที่เหลือคาดว่าจะหมดอายุใช้งานภายในต้นปี 2030 เนื่องจากแบตเตอรี่ภายในระเบิดเสื่อมสภาพตามอายุ
ในนโยบายล่าสุดที่ประกาศเมื่อปี 2022 สหรัฐฯ ตั้งเป้าจะทำลายคลังทุ่นระเบิดทั้งหมดที่ไม่จำเป็นสำหรับการป้องกันคาบสมุทรเกาหลี และได้สัญญาว่าจะไม่พัฒนา หรือซื้อทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเพิ่มอีก นอกจากนี้จะไม่สนับสนุน หรือส่งเสริมการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลนอกคาบสมุทรเกาหลีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 2024 สหรัฐฯ ได้อนุมัติการโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ถูกแบนตามกติการะหว่างประเทศไปยังยูเครน โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันว่าการให้ระเบิดเหล่านี้เป็นไปตามความต้องการของยูเครน
ICBL รายงานว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ มีคลังสำรองทุ่นระเบิดสังหารบุคคลประมาณ 3 ล้านทุ่น ซึ่งตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 2014
ฟินแลนด์ / 1.5 หมื่นทุ่น (เริ่มผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเพิ่มปี 2026)
ICBL รายงานว่า ปัจจุบัน ฟินแลนด์สะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไว้ราว 15,591 ทุ่นเพื่อวัตถุประสงค์ในการฝึกฝน ซึ่งเป็นจำนวนที่ฟินแลนด์สะสมไว้ตั้งแต่ปี 2021 โดยได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาทุ่นระเบิดเหล่านี้ไว้ภายใต้อนุสัญญาออตตาวาเพื่อการพัฒนาและฝึกอบรมเทคนิคการตรวจจับ การกำจัด หรือการทำลายทุ่นระเบิด
อย่างไรก็ดี ฟินแลนด์ได้ถอนตัวจากอนุสัญญาออตตาว่าในปีนี้ เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงจากภัยคุกคามของรัสเซีย และกำลังวางแผนที่จะเริ่มผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในประเทศในปี 2026 เพื่อรองรับความต้องการด้านการป้องกันประเทศและสนับสนุนยูเครน
ก่อนเข้าร่วมอนุสัญญาออตตาวาในปี 2011 ฟินแลนด์เคยมีคลังทุ่นระเบิดสังหารบุคคลมากกว่า 1 ล้านทุ่น ต่อมาได้ทำลายคลังทุ่นระเบิดเหล่านี้ไปหมดแล้วภายในปี 2015
ลิทัวเนีย / 1,488 ทุ่น (เริ่มผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเพิ่มปี 2026)
เดิมทีลิทัวเนียมีคลังทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งหมดประมาณ 8,091 ทุ่น และได้ทำลายไปแล้วจำนวน 4,104 ทุ่นภายในปี 2004 แต่ลิทัวเนียก็เก็บทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไว้จำนวน 1,488 ทุ่นเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ด้านการฝึกฝน โดยทุ่นระเบิดส่วนนี้เป็นชนิด ‘MON-100’ จำนวน 331 ทุ่น และ ‘OZM-72’ จำนวน 1,157 ทุ่น ซึ่งติดตั้งระบบจุดชนวนด้วยการควบคุมระยะไกล (command-controlled fuses) เป็นทุ่นระเบิดที่จุดชนวนแบบรีโมต
จากรายงานในปี 2005 ระบุว่า ลิทัวเนียได้ทำลายระเบิดทั้งหมดยกเว้นส่วนที่สงวนไว้เพื่อการฝึกฝน และในปี 2025 ลิทัวเนียได้ถอนตัวจากอนุสัญญาออตตาวาเพื่อรองรับสถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามจากรัสเซีย นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะกลับมาผลิตและสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคลใหม่ในปี 2026 เพื่อใช้ในด้านการป้องกันประเทศและสนับสนุนยูเครนเช่นเดียวกับฟินแลนด์
Photo by : Shutterstock / Karkhut
อินโฟกราฟฟิกโดย : อรนรร จิรชลมารค
ภาพปก : สันติ อมรสถิตย์