กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว! ‘สมศักดิ์’ ขออย่าตื่นตระหนก ‘โควิด-19’ กลับมาระบาดหนัก

10 พ.ค. 2568 - 04:49

  • ‘สมศักดิ์’ ขออย่าตื่นตระหนก ‘โควิด-19’ กลับมาระบาดหนัก

  • ชี้ปัจจุบันกลายเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ติดง่าย แต่อาการรุนแรงน้อย

  • เผย ‘ผู้ติดเชื้อรายใหม่’ เริ่มลดลงแล้ว แนะปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

  • เตือนหากเสี่ยง ‘ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา’

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีแพทย์ออกมาเตือนโควิดกลับมาระบาดหนัก ว่า สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 - ปัจจุบัน


  • มีผู้ป่วยสะสม 53,676 ราย
  • เสียชีวิต 16 ราย
  • จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 16,723 ราย


ซึ่งเริ่มมีการติดเชื้อสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 15 และติดเชื้อสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 18 ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. – 3 พ.ค. 2568 จำนวน 14,349 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย ซึ่งมีการติดเชื้อมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 4,624 ราย รองลงมา ชลบุรี 1,177 ราย, นนทบุรี 866 ราย และระยอง 553 ราย


แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ 19 ระหว่างวันที่ 4 พ.ค. – 10 พ.ค. 2568 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 12,543 ราย โดยจะเห็นได้ว่าแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงแล้ว


จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งขอเน้นย้ำว่าโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี จึงขอให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะโควิด-19 ปัจจุบันติดง่าย แต่อาการรุนแรงน้อย แต่ก็ขอเน้นย้ำให้ระมัดระวัง ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรณีเกิดการเจ็บป่วยหรือสงสัยว่าเป็นโควิด-19 ควรปฏิบัติดังนี้


  • หากมีอาการสงสัย หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทันที
  • หากผลการตรวจเป็นบวก ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและผู้อื่น แยกของใช้ส่วนตัว หากจำเป็นต้องออกจากที่พัก ขอให้เข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • กรณีที่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ มีเสมหะ โดยที่อาการไม่รุนแรง แต่ไม่สามารถตรวจ ATK ได้ ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะ หากจำเป็น จะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
  • งดหรือหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 หากไม่สามารถหลีกเลี่ยง จะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์