ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก ที่มีสารโลหะหนักอย่างสารหนูปนเปื้อน ซึ่งมาจากการทำเหมืองแร่ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคม ถึงผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ รวมถึงชีวิตของประชาชนคนไทย ในขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหายังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม ขั้นตอนและวิธีการจัดการกับปัญหาค่อนข้างซับซ้อน ที่รัฐบาลเมียนมาไม่สามารถเข้าไปควบคุมจัดการได้โดยตรง เนื่องจากพื้นที่การทำเหมืองดังกล่าวนั้นเป็นของว้าแดง และบริษัทที่เข้ามาดำเนินกิจการมาจากประเทศจีน
ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย – เมียนมา ครั้งที่ 37 ซึ่งเป็นเวทีที่เสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ โดยมี พล.ท. กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 และ พลโท ยุ้น วิน ส่วย ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษที่ 4 เมียนมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ประเด็นสำคัญมีการหารือกรณีปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ซึ่งไหลผ่านพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย อันเนื่องมาจากการทำเหมืองแร่ของกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในพื้นที่แนวชายแดน และมีการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น สารหนูและสารตะกั่ว ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนทั้งสองฝั่ง โดยหลังจบการประชุมฝ่ายเมียนมาจะนำข้อเสนอของฝ่ายไทยที่เสนอต่อรัฐบาลเมียนมา กลับไปพิจารณาดำเนินการตามแนวทางที่ได้ตกลงร่วมกันต่อไป
รศ.ดร.เขตไท ลังการ์พินธุ์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยพายัพ และเป็นนักวิชาการที่อยู่ในแวดวงของกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมานานกว่า 25 ปี ได้แสดงความคิดเห็นว่า ในตอนนี้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ดีที่สุดคือ “การเจรจาร่วมมือแก้ไขปัญหา” ที่น่าจะมีประสิทธิภาพที่สุด และ มีความเป็นไปได้มากที่สุด เรื่องของสิ่งแวดล้อมมันต้องมีการฟื้นฟูและมันต้องร่วมมือกันจะทำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้
“เพราะฉะนั้นการเจรจาดีที่สุด ก็เชื่อว่ามันต้องมีเหตุผลที่ทำให้เกิดปัญหานี้ ต้องไปดูว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือไม่ดีพอทำให้หลุดออกมาก็ต้องช่วยกันว่าจะป้องกันอย่างไรเพราะเราก็เป็นเพื่อนบ้านกันต้องพูดคุยเราคงย้ายประเทศหนีกันไม่ได้”

รศ.ดร.เขตไท กล่าวต่อว่า ตอนนี้รัฐบาลก็มีการขยับในการเจรจากับประเทศเมียนมาแล้ว ทีมเจรจาไทยเราต้องเน้นหนักไปในเรื่องผลกระทบในทุกมิติของจริงๆ แล้วอนาคตจะนำไปสู่ข้อตกลงทำ MOU ก็ทำได้ ร่วมถึงทำระบบต่อระบบเตือนให้ดี ส่วนในประเทศรัฐบาลก็ต้องขยับเช่นกันต้องเตรียมเรื่องของการเยียวยาหากมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นจากปัญหานี้ รวมถึงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำด้วยเงินรัฐบาลมีงบกลางที่สามารถนำมาเยียวยาได้
ส่วนเรื่องทำเขื่อนดักตะกอนทำดีกว่าไม่ทำ เพราะปัญหานี้คงใช้เวลาไม่ใช่น้อยในการจัดการ รัฐบาลต้องคำนึงเสมอว่าคนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือ ประชาชน และ เศรษฐกิจของประเทศ เรื่องสิ่งแวดล้อมควรจะพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องมีแผนระยะสั้น กลาง ยาว
รศ.ดร.เขตไท กล่าวอีกว่า หากถามว่าฟ้องได้ไหมก็ได้ แต่ในการฟ้องขึ้นศาลนั้นมันต้องยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย การที่จะนำเมียนมาหรือบริษัทในเมียนมาไปขึ้นศาลเขาต้องยินยอมถ้าเค้าไม่ยอมขึ้นศาลกับเรากระบวนการก็ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าสมมุติว่าไทยชนะคดีแต่ถามว่าชนะแล้วจะทำอย่างไรต่อไปก็ยังไม่รู้ ที่สำคัญจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้จริงหรือเปล่า ส่วนประเทศจีนจะเคลื่อนมากขึ้นหรือไม่ก็ต้องดูท่าที แต่เราสามารถไปคุยได้ ซึ่งคาดว่าหากในอนาคตพบว่าแม่น้ำโขงมีสารปนเปื้อนมากขึ้นอาจจะเห็นการขยับของจีนมากขึ้น
ด้าน ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็มองว่า ตอนนี้ภาครัฐมีความพยายามที่ดีในการจะสื่อสารกับประชาชน เช่น เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อการรับรู้และติดตามสถานการณ์น้ำเชียงราย แต่ควรจะเพิ่มเติมเว็บไซต์กลางเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น
“เพราะถ้าเป็นเว็บไซต์สามารถแบ่งหมวดหมู่ได้ ดูย้อนหลังได้ง่ายกว่า ซึ่งจะง่ายต่อประชาชนที่จะติดตามสถานการณ์ รวมถึงในแต่ละอาทิตย์ควรจะมีการลงพื้นที่รับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนเพื่อทำข้อมูลให้ครบในหลายมิติ เพื่อเจรจากับประเทศเมียนมา เพราะการเจรจาจะต้องมีข้อมูลที่เข้มข้นครบทุกมิติ และยังเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนจริงๆ และยังจะส่งผลดีให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน”

ดร.สืบสกุล กล่าวอีกว่า หากพูดถึงการเจรจารัฐบาลไทยต้องทำหลายๆ ทาง เราต้องเจรจากับเมียนมาให้ได้ ไทยเก็บรวบรวมข้อมูลให้แน่น แน่นอนว่าการเจรจาและการแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลานานพอสมควร
“ส่วนจีนนั้นจะมีการเคลื่อนไหวหลังจากที่แม่น้ำโขงมีการปนเปื้อนมากขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะประเทศจีนก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องการขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก ซึ่งสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ก็เชื่อว่าประเทศจีนจะมีการเข้ามาพูดคุยกับประเด็นนี้ เพราะหากไม่เข้ามาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมประเทศจีนจะไม่สามารถเป็นมหาอำนาจของโลกได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งส่วนตัวมองว่าประเทศจีนต้องออกมาขยับในเรื่องนี้ได้แล้ว หากต้องการขึ้นเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก”
ดร.สืบสกุล กล่าวต่อว่า ในส่วนของชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังคงมีความกังวลอยู่เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งยังมีความคาดหวังที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ส่วนการเจรจากับประเทศเมียนมาก็ควรจะเดินหน้าต่อ รวมถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
“สิ่งที่ชาวบ้านยังรอคอยจากภาครัฐคือ พื้นที่เกษตรกรรม การจับปลา ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ยังไม่มีการตรวจสอบที่ทั่วถึง ซึ่งก็ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจ ทั้งคนที่เป็นผู้ผลิตและผู้ซื้อ”

ขณะเดียวกันยังมีท่าทีเกี่ยวกับประเด็นนี้ จากสหรัฐอเมริกาอีกหนึ่งมหาอำนาจของโลก โดย โรเบิร์ต เอฟ โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอมริกา ประจำประเทศไทย ที่เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกาได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดมลภาวะในแม่น้ำแล้ว และมีข้อกังวลในปัญหานี้ อยากจะให้ประชาชนที่อาศัยอยู่กับแม่น้ำนี้ได้รับความปลอดภัย แต่ทางสหรัฐฯ ยังไม่ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากทางการไทยในเรื่องนี้
“อย่างไรก็ตามเราก็จะคอยเฝ้าติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะที่ผ่านมาเราก็คอยให้การสนับสนุน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมาโดยตลอด ซึ่งก็มีข้อกำหนดที่จะรักษาสมดุลย์และการบริหารของของพื้นที่อย่างแม่น้ำในแถบประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตลอด ซึ่งตรงนี้นั้นทางคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่ทราบก็คือมีการนำเสนอที่จะมีการศึกษาร่วมกันกับทางเมียนมา เพื่อดูเรื่องของผลกระทบในแม่น้ำนี้ ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าว
