วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2534 ณ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีใจความสำคัญว่า
“…ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกัน อนุรักษ์ และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป”
พระราชดำรัสครั้งนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ และยังคงสะท้อนความจริงของโลกทุกวันนี้ที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤติภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน และ “ป่าชายเลน” กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางธรรมชาติอันทรงพลังในการรับมือกับวิกฤตของมวลมนุษยชาติ

ป่าชายเลนคือขุมพลังดูดซับคาร์บอนจากธรรมชาติ
ในยุคที่โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) กลายเป็นภัยเงียบที่ทรงพลังที่สุด “ป่าชายเลน” คือแหล่งกักเก็บคาร์บอนจากทะเลและชายฝั่งที่ถูกมองข้ามมานาน โดยเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ที่เรียกว่า “Blue Carbon”
บลูคาร์บอน คืออะไร?
บลูคาร์บอน (Blue Carbon) คือคาร์บอนไดออกไซด์ถูกดูดซับไว้โดยระบบนิเวศชายฝั่งรวมถึงมหาสมุทร อาทิ ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง แหล่งหญ้าทะเล และลุ่มน้ำเค็ม ระบบนิเวศเหล่านี้จะทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนในรูปแบบชีวมวลและการทับถมของตะกอนลงสู่ชั้นดิน

ดังนั้น ป่าชายเลนจึงนับเป็นแหล่งสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนที่ทั่วโลกต้องการ โดยแหล่งสะสมคาร์บอนของป่าชายเลนจะอยู่ทั่วทุกส่วนของพืช เช่น ซากต้นไม้ ไม้ล้ม ผลิตภัณฑ์จากไม้ เศษซากที่ร่วงลงดิน อินทรียวัตถุในดิน ส่วนของต้นไม้ที่อยู่เหนือดิน และส่วนของต้นไม้ที่อยู่ใต้ดิน
...รู้หรือไม่? ป่าชายเลนสามารถดูดซับคาร์บอนได้สูงถึง 9.4 ตัน CO₂ ต่อไร่ต่อปี ซึ่งมากกว่าป่าบกถึง 4 เท่า
ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าบกถึง 4 เท่า สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยลดโลกเดือดได้ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้สามารถดึงคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินได้ถึง 50-99 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กลายเป็น “คลังเก็บคาร์บอนธรรมชาติ” ที่มีความเสถียรและยาวนาน นอกจากนี้ ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ช่วยลดแรงปะทะของคลื่นและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วยกรองน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำในทะเล และยังแหล่งอาหารและรายได้ของชุมชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง
จากต้นโกงกาง...สู่ “คาร์บอนเครดิต” ที่จับต้องได้
เมื่อโลกกำลังเร่งลดการปล่อยคาร์บอน ประเทศไทยได้พัฒนาแนวทางใหม่ผ่านระบบคาร์บอนเครดิตจากแหล่ง Blue Carbon โดยเฉพาะกิจกรรมปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลน ปัจจุบันองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO มีระเบียบวิธีการของการรับรองคาร์บอนเครดิตจากแหล่ง Blue Carbon ภายใต้มาตรฐานโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ในรูปแบบมาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) ได้แก่ กิจกรรมปลูกป่าชายเลน และกิจกรรมการฟื้นฟูป่าชายเลนและหญ้าทะเล
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตั้งเป้าฟื้นฟูป่าชายเลนกว่า 300,000 ไร่ ภายในปี 2030 ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน และเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจและชุมชนชายฝั่งเข้าร่วมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต
ประโยชน์จากการฟื้นฟูป่าชายเลน ไม่เพียงแค่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ทำให้ระบบนิเวศฟื้นตัว เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ช่วยให้ประมงพื้นบ้านยั่งยืน ลดภัยธรรมชาติ ป้องกันคลื่นพายุและการกัดเซาะชายฝั่ง อีกทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเป้าหมาย Net Zero ทำให้ไทยเข้าใกล้การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์

ไทยมีศักยภาพแค่ไหนในการใช้ Blue Carbon สู้โลกร้อน?
ด้วยพื้นที่ป่าชายเลนของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1.49 ล้านไร่ในปี 2004 เป็น 1.73 ล้านไร่ในปี 2020 ปัจจุบันในประเทศไทยที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุด คือจังหวัดพังงา โดยมีพื้นที่ประมาณ 288,444 ไร่ คิดเป็น 16.61% ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด รองลงมาคือ สตูล 239,578 ไร่, กระบี่ 230,789 ไร่, ตรัง 226,408 ไร่ และระนอง 171,737 ไร่ โดยเฉลี่ยแล้วต่อปี ป่าชายเลนในไทยจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้กว่า 1,020,000 ตันคาร์บอน ซึ่งนับเป็น 1.7% ของป่าชายเลนทั้งโลก
จึงนับว่าไทยมีศักยภาพทางภูมิศาสตร์ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เท่ากับมีแต้มต่ออย่างมากในการใช้ Blue Carbon เป็นเครื่องมือสำคัญในการพิชิตเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี ค.ศ. 2030 และ Net Zero ในปี 2065 ตามที่ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส และเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ข้อที่ 14 คือฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ในทะเล รวมทั้งตามแนวชายฝั่ง แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และภาคธุรกิจ ที่จะหันมาร่วมกัน “ปลูก รักษา และฟื้นฟูป่าชายเลน” ให้กลายเป็นทั้งต้นทุนธรรมชาติและโอกาสทางเศรษฐกิจ
...จากพระราชดำรัสเมื่อ 34 ปีก่อน ถึงวันนี้เสียงนั้นยิ่งดัง เราเห็นแล้วว่า...“ป่าชายเลน” ไม่ใช่แค่แนวต้นไม้ริมทะเล แต่คือแนวป้องกันสุดท้ายของมนุษยชาติในการสู้กับภาวะโลกร้อน