หลังจากที่สถานีขนส่งขนส่งผู้โดยสารจังหวัดลำพูน ต้องปิดตัวลงในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 เมื่อปี 2563 และ ถูกปิดร้างมานานถึง 5 ปีที่ ไม่ได้เปิดอีกเลยจนถึงปัจจุบัน ทำให้จังหวัดลำพูนไม่มีสถานีขนส่งขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์รวมการเดินทาง ทำให้รถโดยสารที่ให้บริการในพื้นที่จังหวัดลำพูน และรถโดยสารที่ให้บริการต่างจังหวัด ต้องไปจอดให้บริการผู้โดยสารตามจุดต่างๆ กระจายหลายจุดในพื้นที่ตัวเมืองลำพูน ส่งผลกระทบด้านความสะดวกต่อการใช้บริการของประชาชน เพราะจังหวัดลำพูน ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่เมือง และไม่ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ เหมือนเมืองใหญ่ทั่วไป ทำให้การเดินทางในตัวเมืองต้องใช้บริการรถสามล้อถีบ หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างเท่านั้น

ทรงศักดิ์ สิทธิตัน ชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูน เป็นเมืองที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น แต่ปัจจุบันมีการขยายของเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวบ้านต้องเดินทางไปทำงานทำธุระไกลขึ้น แต่ในตัวเมือง กลับไม่มีระบบขนส่งสาธารณะมีเพียงรถสามล้องถีบและมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นบางจุดเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านเดินทางไม่สะดวก หากจะเดินทางไปไหนต้องนั่งรถยนต์ส่วนตัวไปทำให้เกิดความสิ้นเปลือง

“พี่น้องชาวบ้านที่อาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกลเช่น อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง หากจะเดินทางมาทำธุระในตัวเมืองต้องนั่งรถโดยสารเข้ามา แต่พอมาถึงตัวเมืองลำพูน ก็ไม่สามารถจะต่อรถไปยังจุดอื่นได้ทำให้ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาด้วยการนั่งรถยนต์ส่วนตัวมาเอง หากใครไม่มีรถยนต์ส่วนตัวก็จะว่าจ้างเพื่อนบ้านมาส่ง หรือเหมารถมากันทีละหลายๆ คน โดยเฉพาะหากต้องมาโรงพยาบาล มาติดต่อราชการ”
นอกจากนี้การเดินทางไปศูนย์ราชการแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ไกลออกไปจากตัวเมืองลำพูนมากกว่า 10 กิโลเมตร ยังไม่มีรถโดยสารสาธารณะมาให้บริการประชาชน ทำให้ประชาชนต้องใช้รถส่วนบุคคลเดินทางไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่อยู่พื้นที่ห่างไกลต้องลำบากในการเดินทางมา
ทรงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า “ส่วนตัวคิดว่าจังหวัดลำพูนถึงเวลาที่จะต้องมีระบบขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งระหว่างอำเภอ และภายในตัวเมืองลำพูน และมีการเชื่อมต่อเส้นทางให้ทั่วถึง ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแน่นอน”


ด้าน ทัดชนก วงศ์ษา และ กัญญาณัฐ ธรรมสุทธิ์ ชาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เล่าว่า ทั้งสองคนเดินทางมาจากอำเภอบ้านโฮ่ง นั่งรถโดยสารมาตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อเข้ามาทำธุระในตัวเมืองลำพูน พอมาถึงคิวรถต้องนั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปต่อ ทำให้ไม่สะดวกและสิ้นเปลือง

“อยากให้จังหวัดลำพูนมีระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมและราคาประหยัดไม่ต้องนั่งต่อรถหลายทอดและหลายครั้งที่เข้ามาทำธุระในเมือง เพราะเมื่อมาถึงคิวรถแล้วจะหารถนั่งไปต่อยากทำให้เสียเวลา นอกจากนี้หากมีสถานีขนส่ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเส้นทางเดินรถไปจุดต่างๆ จะทำให้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการเดินทางต่อ และเรื่องห้องน้ำสาธารณะ และไม่ต้องนั่งตากแดดตากฝนรอรถเป็นเวลานาน”
ชาวอำเภอบ้านโฮ่ง ทั้งสองคน ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยไปทำธุระที่จังหวัดลำปาง นั่งรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งจังหวัดลำปาง เมื่อมาถึงลำพูนรถโดยสารก็จะจอดให้ลงแถวบริเวณแยกดอยติ ซึ่งอยู่นอกเมือง และต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาต่อรถเพื่อกลับบ้านที่อำเภอบ้านโฮ่ง ทำให้ต้องสิ้นเปลืองและเสียเวลาเป็นอย่างมาก

ขณะที่ วีระเดช ภู่พิสิฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน (อบจ.ลำพูน) เปิดเผยว่า ทาง อบจ.ลำพูนได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดลำพูนไว้แล้ว โดยเบื้องต้นมีแผนในการจะนำรถอีวีบัส ( EV Bus) มาให้บริการประชาชน ซึ่งได้มีการวางแผนเดินรถในเขตตัวเมืองลำพูนก่อน
“โดยมีการวางแผนเส้นทางการเดินรถไว้ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางแรกเชื่อมระหว่างตัวเมืองเก่า มาถึงโซนนิคมอุตสาหกรรม ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เส้นทางที่สองจากตัวเมืองลำพูนมาทางวัดดอยติ ซึ่งเป็นเส้นทางไป-กลับจะผ่านทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า ตลาดขนาดใหญ่ สถานที่ราชการ ส่วนเส้นทางที่สาม จะเป็นเส้นทางตัวเมืองฝั่งซ้ายจากสนามกีฬาจะพยายามให้เชื่อมโยงถึงโซนเครือสหพัฒน์ด้านใน และวกกลับมาที่ตัวเมืองเหมือนเดิม”

นายก อบจ.ลำพูน กล่าวต่อว่า เส้นทางเดินรถทั้ง 3 เส้นทาง จะเชื่อมโยงระหว่างเมืองเก่ากับเมืองใหม่ ซึ่งศูนย์กลางขนส่งสาธารณะทุกที่จะอยู่ใกล้กับวัดพระธาตุหริภุญชัย
“เราจะพยายามผลักดันให้มีรถโดยสารใช้ภายในสิ้นปีนี้ หรืออย่างช้าจะเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2569 ขณะนี้ทราบคร่าวๆ ว่าเราได้รับงบกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางรัฐบาล ที่จะทำ EV Bus เป็นระบบขนส่งในเมือง กระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งยังอยู่ระหว่างการทำโครงการทราบว่าจะได้บริษัทผู้ทดลองเดินรถภายในสิ้นปีนี้”
ในส่วนการเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งสาธรณะระหว่างอำเภอขณะนี้จังหวัดลำพูน มีรถบัสขนาดใหญ่ 1 เส้นทางคือระหว่าง อ.ลี้ มาตัวเมืองลำพูน จะผ่าน อ.ป่าซาง อ.บ้านโฮ่ง สิ้นสุดที่ อ.ลี้ ซึ่งจากการสำรวจกับผู้ประกอบการ พบว่ามีการใช้บริการรถโดยสารน้อยลงเหลือ ขาไป 4 คัน ขากลับ 4 คัน ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่ค่อยได้เดินทางเข้ามาในตัวเมือง เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ และหากมีความจำเป็นก็จะนิยมใช้รถยนต์ส่วนตัว
“อย่างไรก็ตามระบบขนส่งมวลชนเฟสแรกที่จะทำยังเป็นจุดวัดใจของคนลำพูนว่า หากมีระบบขนส่งมวลชนแล้วจะใช้บริการหรือไม่ ซึ่งทาง อบจ.จะได้ให้มีการทดลองเดินรถ และเก็บค่าโดยสารราคาถู กและพร้อมให้มีการปรับปลี่ยนเส้นทางการเดินรถให้ครอบคลุมทั่วถึง และอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งมีโจทย์หลักคือ รถต้องดี เส้นทางครอบคลุม และคนปรับพฤติกรรมมาใช้รถโดยสารสาธารณะมากขึ้น เป็นต้น” นายก อบจ.ลำพูน กล่าว
