เรื่องมันมีอยู่ว่า เงินร้อน 3,300 ล้านจากกสทช. ผู้ว่าฯ ‘ธปท.’คนใหม่สะดุด

15 ก.ค. 2568 - 23:45

  • อสมท จากแดนสนธยาจะกลายเป็นแดนมิคสัญญี

  • ขาดสภาพคล่อง ปัญหาเดิมรุมเร้า สะสางยังไม่จบ

  • ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่สะดุด ฉีกโผหรือเอกสารไม่ครบ

เรื่องมันมีอยู่ว่า  เงินร้อน 3,300 ล้านจากกสทช.  ผู้ว่าฯ ‘ธปท.’คนใหม่สะดุด

เรื่องมันมีอยู่ว่า   <> อสมท จากที่เคยเรียกขานว่าแดนสนธยา กลายเป็นแดนมิคสัญญี ทั้งขาดสภาพคล่อง ปัญหาค้างคาที่ยังแก้ไม่จบ รอบนี้อาการหนัก <> ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ต้องรอไปอีกหนึ่งสัปดาห์  ด้วยเหตุผลอย่างเป็นทางการว่าเอกสารไม่ครบ กลัวซ้ำรอยทนายถุงขนม<> พบคำตอบในเรื่องมันมีอยู่ว่า

เงินร้อน 3,300 ล้านจาก กสทช.

ทำให้เก้าอี้ ผอ.อสมท ถูกเมิน

ขาดทุนบักโกรกมากว่าทศวรรษ มีพลิกกำไรบ้างแค่ 1-2 ปี จนวันนี้ ‘บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)’ กำลังกลายสภาพจาก ‘แดนสนธยา’ มุ่งสู่ ‘แดนมิคสัญญี’ กับกระแสเงินสด (Cashflow) นอนก้นบัญชีพอจ่ายเงินเดือนพนักงานได้แค่ไม่ถึง 2 เดือน ที่เหลือก็ให้บุญบาปนำพา

เป็นภาวะที่เกิดขึ้นขณะที่ไม่มี ‘คีย์แมน’ ทั้ง กรรมการผู้อำนายการใหญ่ (กอญ.) ที่ยังไม่สามารถเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ได้ มีคดีคั่งค้างถูก ‘ว่าที่ กอญ.’ ฟ้องอยู่ที่ศาลปกครอง ขณะที่ประธานคณะกรรมการบริหาร (ประธานบอร์ดบริหาร) เก้าอี้ใหญ่บึ้มที่ ‘ร้อน’ จนไม่มีใครยอมนั่งอย่างไม่น่าเชื่อ

ทำให้ช่วงที่ผ่านมาทั้ง ‘บอร์ด’ คณะกรรมการบริหารที่ไร้หัว ไม่มี ‘ประธาน’ และฝ่ายบริหารที่หัวเป็นแค่ ‘รักษาการ’ และกำลังจะเกษียณในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พอให้ ‘คิด-วิเคราะห์‘ แผนการแก้วิกฤต ก็สรุปตัดจบลงด้วยการผ่องถ่ายขาย ‘ที่ดิน’ เพื่อต่อลมหายใจทุกครั้ง

โดยเฉพาะ ‘ที่ดิน’  แปลงงาม 3 แห่ง  ประกอบด้วย ที่ดิน 40 ไร่ หนองแขม, ที่ดิน 59 ไร่ ที่บางไผ่ และที่ดิน ‘ท้องมังกร‘ 50 ไร่ ติดศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

แต่ก็เจอ ‘ขุนคลัง’ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แตะเบรกกลางที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และในฐานะที่กำกับ ‘ผู้ถือหุ้นใหญ่’ กระทรวงการคลัง เห็นว่า เป็นเพียงแผนการเอาตัวรอดระยะสั้นเท่านั้น และยังชี้ว่า แผนพลิกฟื้นธุรกิจ (ปี 2568-2572) ที่ใช้อยู่ ‘ไม่สามารถ’ แก้ไขวิกฤตได้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้  อสมท ไม่ต่างจาก ‘วัวพันหลัก’ ไม่พ้นเงินค่าเยียวยา ‘คลื่น 2600’ จาก กสทช.มูลค่า 3,300 ล้านบาท ที่แบ่งจ่ายเป็น 7 งวด แต่ต้องแบ่งครึ่ง 50:50 กับ ‘เอกชน’ ที่กลายเป็นปมผูกพันไปแทบทุกปัญหาของ อสมท มาตลอดเกือบ 10 ปีมานี้

มีนาคม ปี 2562  บอร์ด กสทช. ในตอนนั้นมีมติเรียกคืนคลื่นความถี่ ย่าน 2600 MhZ  จำนวน 190 MHZ  ที่ อสมท ได้รับจัดสรรจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งแต่ปี 2533 คืน เพราะเอาไปแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงขอคืนเอามาเปิดประมูลใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่  โดนจ่ายค่าเยียวยาให้  อสมท ประมาณ 3,300  ล้านบาท

ก่อนหน้านั้น  ตอนปลายปี 2553   กอญ. อสมท. ชื่อ ‘ธนวัฒน์ วันสม’  เอาคลื่นไปให้ ‘บริษัทเพลย์เวิร์ค’ ลงทุนทำโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก มีสัญญา 15 ปี   แต่ กสทช.  ซึ่งโอนอำนาจการบริหารคลื่นความถี่มาจาก กรมไปรษณีย์โทรเลขไม่ให้ทำ  เพราะคลื่น 2600  เป็นคลื่นสำหรับโทรคมนาคม และโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกของ เพลย์เวิร์ค ไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.

อย่างไรก็ตาม  อสมท ในยุค ‘เขมทัตต์ พลเดช’  เป็น กอญ.  ไม่สน   ปัดฝุ่นโครงการร่วมลงทุนกับเพลย์เวิร์ค ตอนกลางปี 2561

เมื่อ กสทช. เรียกคืนคลื่นและจ่ายเงินเยียวยา 3,300  ล้านบาท ให้ อสมท เขมทัตต์ ทำหนังสือแจ้ง กสทช.ว่า เขาเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่า จะจ่ายเงินเยียวยาให้ เพลย์เวิร์ค ครึ่งหนึ่ง คือ 1,600 ล้านบาท แต่บอร์ด อสมท ตอนนั้นเห็นว่า‘อำนาจเป็นของบอร์ด’  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไม่มีอำนาจ และโครงการของเพลย์เวิร์ค ‘ผิดกฎหมาย’   เพราะไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. 

นอกจากนั้นโครงการของเพลย์เวิร์ค ‘ไม่มีอยู่จริง’  มีแต่งานแถลงข่าวเปิดตัว  การที่  กอญ. อสมทแบ่งเงินเยียวยา 1,600 ล้านบาท ไปให้เพลย์เวิร์ค จึงไม่ถูกต้อง  เพราะไม่ได้ลงทุนอะไรเลย แต่ได้เงินมาฟรีๆตั้ง 1,600  ล้านบาท ยิ่งกว่าส้มหล่น

บอร์ด อสมท 5 คน ตัดสินใจ ‘ลาออก’  เพราะเรื่องนี้  และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ อสมท ไม่มีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ตัวจริง มาจนถึงบัดนี้  เพราะไม่มีใครอยากรับเผือกร้อน

เช็คค่าเยียวยางวดแรก 146 ล้านบาทเศษ อสมท ได้รับมาแล้วเมื่อปี 2563 หรือเมื่อราว 5 ปีก่อน แบ่งครึ่งกับบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัดคู่กรณีคนละ 73 ล้านบาทเศษในยุคที่ ‘ สิโรตม์ รัตนามหัทธนะ’ เป็นรักษาการ กอญ. และเตรียมจะขึ้นเป็น กอญ.

ขณะที่ปีนี้นับเป็นปีที่ 6 กำหนดจ่ายเช็คงวดที่ 2  จำนวน 500  ล้านบาท ซึ่ง กสทช.ก็ได้ออกหนังสือให้ไปรับเช็คมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ อสมท ที่ขาดทุนบักโกรกจนแทบเอาตัวไม่รอด ก็กัดฟันเลือกที่จะ ‘ไม่ไปรับเช็ค’  เพราะไม่ต้องการแบ่งให้เอกชน และหวัง ‘รื้อ’ ให้ได้ส่วนแบ่งมากกว่าเดิมเสียก่อน เพราะเห็นว่าที่มาที่ไปของ ‘ส่วนแบ่ง’ นั้นไม่ชอบมาพากล

แต่ด้วยอาการ ‘โคม่า’  ฐานะการเงินย่ำแย่  ‘บอร์ด อสมท’ ที่พยายาม ‘เพลย์เซฟ’ มาตลอด จำใจต้องลงมติ ‘ลุยไฟ’ ไปรับเช็คค่าเยียวยาจาก กสทช. เพื่อนำเงินไปจ่ายหนี้ธนาคาร ‘หมุน’ กลับมาเป็น ‘โอดี’ เงินเบิกเกินบัญชีใช้จ่ายภายในองค์กรเอาตัวรอดไปก่อน

ที่ว่า ‘ลุยไฟ’ ก็เพราะระหว่างที่ อสมท. ‘ดึงเชง’ ไม่ยอมไปรับเช็ค ทาง ‘เพลย์เวิร์ค’ ก็ได้ยื่น ‘โนติส’ เตือนทาง อสมท. ว่า ที่พยายามทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง และต้องไปรับเช็คเพื่อนำมาแบ่งครึ่งกันตามเงื่อนไขโดยเร็ว

โดยอ้างอิงถึงมติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ระบุว่า อสมท มีหน้าที่นำส่งเงิน‘ชดใช้’ หรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เพลย์เวิร์ค ภายใน 15 วันนับถัดจากวันที่ได้รับเงินชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนจากสำนักงาน กสทช.

ซึ่งวันที่ได้รับเงินชดใช้ที่ ‘เพลย์เวิร์ค’ หมายถึงคือ ‘วันที่เช็คออก’ หรือวันที่ 10 มิถุนายน 2568 ต่างจาก อสมท ที่มองว่า ‘วันรับเช็ค’ คือ วันที่ได้รับเงินชดใช้

ไม่เท่านั้นในรายละเอียดของมติ บอร์ด อสมท  ยังให้นำเฉพาะครึ่งหนึ่ง 250 ล้านบาท มาใช้ในกิจการองค์กร ส่วนเงินอีกครึ่งหนึ่ง หรือ 50:50 ในส่วนของ เพลย์เวิร์ค ให้ไปฝากไว้ในบัญชีธนาคาร เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ในระหว่างที่หาช่องทาง ‘รื้อ’ สัดส่วนการแบ่งเงินชดเชย

พร้อมกับหาช่องทางฟ้องร้อง ‘สิโรตม์’ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบระหว่างดำรงตำแหน่ง ทั้งการแก้ไขลดสเปกคุณสมบัติ กอญ. จนตัวเองสมัครเข้ารับการสรรหา จนเกือบได้เซ็นสัญญาจ้าง และยังเป็นผู้ที่ลงนามแบ่งจ่ายเงินเยียวยางวดแรกให้กับ ‘เพลย์เวิร์ค’ ที่ตัวเองถูกตั้งข้อสงสัยมีส่วนได้เสียด้วย

นัยว่าต้องการ ‘ปลดล็อก’ การสรรหา กอญ.คนใหม่เข้ามากู้วิกฤตองค์กร โดยชี้ให้เห็นว่า กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งของ ‘สิโรตม์’ นั้นไม่ชอบธรรม นำไปสู่การปลดคดีที่ ‘ค้ำ’ อยู่ที่ศาลปกครอง

ก็ต้องรอดูว่า การที่ ‘บอร์ด อสมท’ สามัคคี ‘ลุยไฟ’ ที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้อง จะสามารถแก้ปมเงินชดใช้ ที่ทำให้ เก้าอี้ กอญ. อสมท ไม่มีใครอยากนั่ง ได้หรือไม่  

<<<<<<<<>>>>>>>> 

ผู้ว่าฯ ‘ธปท.’คนใหม่สะดุด 

โผพลิกหรือเอกสารไม่ครบ?

ค้างเติ่งกลางทาง วาระเสนอชื่อ ‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่’ แทน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่กำลังจะหมดวาระ ลือกระหึ่มว่าเป็น ‘ผอ.เต๋’ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่ ‘ขุนคลัง’ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ใส่ซองปิดผนึกเตรียมชงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (15 กรกฎาคม 2568)

ทว่าที่สุดวาระการเสนอชื่อ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รอบรรจุเป็นวาระเพื่อทราบ (จร) หรือที่คุ้นหูว่า ‘วาระจร’ ก็ยังไม่ได้เข้าสู่การประชุม ครม. ที่มี ‘นายกฯอ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

เนื่องจาก ‘ณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์’  เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบตรวจความพร้อมของเอกสารเพื่อจัดวาระการประชุม เห็นว่า ‘เอกสารไม่ครบ’ เพราะมีเพียงเอกสารประวัติ และผลงาน

แต่ขาดเอกสาร ‘ตรวจสอบคุณสมบัติ’ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญมากในยุคนี้ ที่เข้มงวดมากขึ้น

โดยเฉพาะการแต่งตั้งบุคคลใน ‘ตำแหน่งสำคัญ’ ที่อาจทำให้ผู้ที่เสนอ ในกรณีนี้คือ ‘นายกฯอ้วน’ ที่ต้องเซ็นบรรจุเข้าวาระการประชุม และผู้ที่ร่วมอนุมัติ คือ ‘ครม.ทั้งคณะ’ อาจตกเก้าอี้ไม่รู้ตัว

บทเรียนมีแล้ว กรณี ‘เสี่ยนิด’ เศรษฐา ทวีสิน ต้องกลายเป็นอดีตนายกฯ จากการเสนอแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’  เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ

แม้ว่าก่อนหน้าที่ในขั้นตอนของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. จะได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดแล้วก็ตาม แต่เมื่อมาถึงสำนักเลขาฯ ครม.ก็จำเป็นต้องเรียกดูเอกสารเพื่อ ‘ความชัวร์’ อีกครั้ง

เมื่อไม่มีเอกสารสำคัญ จึงไม่ได้บรรจุเป็นวาระการประชุม ครม. และตีกลับเรื่องให้ ‘พิชัย’ แนบเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนเพื่อบรรจุในวาระการประชุม ครม.ครั้งต่อไป

แน่นอนว่าเมื่อวาระที่ถูกจับจ้อง ‘สะดุด’ ก็มีการตีความไปต่างๆนานา โดยเฉพาะเหตุผล ‘การเมือง’ กับตำแหน่ง ‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ ที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังของรัฐบาล

ซึ่ง ‘เลขาธิการ ครม.’ ก็ได้ออกมายืนยันในทำนอง ‘ไม่มีอะไรในกอไผ่’ เป็นเรื่องของ ‘เอกสาร’ จริงๆ เพราะการแต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรง ‘ตำแหน่งสำคัญ’ ต้องลงตัวทุกมิติ และต้องดูด้วยว่าเรื่องสำคัญเช่นนี้เป็น ‘วาระจร’ เหมาะสมหรือไม่ด้วย

ด้าน ‘ขุนคลังพิชัย’ ที่ก่อนเข้าร่วมการประชุม ครม.ยืนยันว่า จะเสนอเรื่องผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่เข้าสู่วาระการประชุม ก็ยอมรับว่า เป็นเพราะเสนอเรื่องช้าไป แต่สัปดาห์หน้าจะเข้าที่ประชุม ครม.อย่างแน่นอน และจะเป็น ‘ชื่อเดิม’ ที่ยื่นไปแล้ว

ส่วนในซองจะเป็นชื่อ ‘ผอ.เต๋-วิทัย รัตนากร’ ตามกระแสข่าวหรือโผพลิกเป็นชื่อ ‘รุ่ง มัลลิกะมาศ’  ก็ต้องรอดูไปอีกอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์

ระหว่างนี้ วิทัย ก็เป็น ว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติไปพลางๆ

<<<<<<<>>>>>>>>> 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์