ศึก ‘แดง-น้ำเงิน’ เสี่ยง Game over?!

19 พ.ค. 2568 - 02:30

  • ศึกในรัฐบาลที่เล่นกันแรง เปิดวอร์เข้าใส่กัน

  • การขยับตัวของผู้กองธรรมนัส และพรรคกล้าธรรมหนนี้ ถูกมองอยู่บนสองภารกิจ

  • รองรับการเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองของรัฐบาล

สังคมไทยเพิ่งผ่านพ้นการรำลึกเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 ไปได้ไม่กี่วัน แต่ดูเหมือนพฤษภาทมิฬ หรือ พฤษภาประชาธรรม ตามแต่ใครถนัดจะใช้คำไหน ทำท่าจะเป็น 33 ปีที่สูญเปล่า

เหตุเพราะการเมืองได้วนกลับมาที่เดิม และน่าจะถอยไปไกลกว่า 33 ปีด้วยซ้ำ จากพฤติกรรม พฤติการณ์ของนักการเมืองในห้วงเวลานี้ ที่นอกจากไม่เคารพกติกาแล้ว ยังไม่มีความเกรงอกเกรงใจประชาชนแม้แต่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นศึกในรัฐบาลที่เล่นกันแรง เปิดวอร์เข้าใส่กัน เป็นนิติสงครามเต็มรูป ขณะที่บางพรรคการเมือง ก็เตรียมส้องสุมกำลัง กวาดต้อนนักการเมืองทั้ง สส.ปัจจุบันและอดีตสส.เข้ามาอยู่ในสังกัด ในนามของคำว่า อุดมการณ์ ที่ตรงกัน

แต่ความเนื้อหอมของพรรคการเมืองที่ว่า ขนาดหัวหน้าพรรคยกแขนขึ้นดมพิสูจน์ต่อหน้าสื่อนั้น มันมีเบื้องหลังซ่อนอยู่ อย่างน้อยก็จากคำสารภาพของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ยอมรับถึงการมาของ อนุดิษฐ์ นาครทรรพ การุณ โหสกุล สองอดีต สส.กทม.ว่า ได้ผ่านการพูดคุยกับ ทักษิณ ชินวัตร แล้ว

"ผู้กองธรรมนัส" ยังย้ำจะมีนักการเมืองในระดับบิ๊กเนม และสส. ปัจจุบันทยอยเปิดตัวเข้าร่วมกับพรรคเพิ่มอีก โดยเปรยว่า หลายคนเป็น "พี่น้องทางการเมือง" ที่ตัวเองเคยสนับสนุนจนได้เป็นสส.มาก่อน

การขยับตัวของผู้กองธรรมนัส และพรรคกล้าธรรมหนนี้ ถูกมองอยู่บนสองภารกิจ คือ การเพิ่มตัวเลขสส.ให้พรรค เพื่อรับการปรับครม.เพราะเมื่อมีสัดส่วนสส.เพิ่ม เก้าอี้รัฐมนตรีก็ต้องได้เพิ่มตามสูตรคณิตศาสตร์

และภารกิจที่ใหญ่กว่า คือ รองรับการเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองของรัฐบาล ในวันที่ "ภูมิใจไทย" กระโดดเรือหนี หรือในวันที่ต้องปรับภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล จะได้ไม่มีปัญหาเสียงข้างมากในสภา อันเป็นที่มาของคำพูดข้างต้นที่ว่า ผ่านการพูดคุยกับคนชื่อทักษิณมาแล้ว นั่นเอง

การออกตัวแรงของธรรมนัสหนนี้ ไม่เพียงสองภารกิจที่ว่าเท่านั้น แต่ยังมองไกลไปถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่ต้องการถีบตัวเองขึ้นมาเป็นพรรคลำดับสามแทนพรรคภูมิใจไทยให้ได้ เพื่อเป็นตัวเสริมในส่วนที่ขาดให้กับพรรคเพื่อไทย

แม้คนในเพื่อไทยและกล้าธรรม จะปฏิเสธเสียงแข็งเรื่องความเป็นพรรคสาขา แต่กล้าธรรม ก็ถูกวางตัวให้เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในพื้นที่ที่เพื่อไทยไม่สามารถลงไปเจาะได้ เป็นภารกิจเดียวกับพรรคประชาชาติ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทว่าสไตล์โฉ่งฉ่างและภาพความเป็นนักการเมืองสีเทาของธรรมนัส ทำให้กลิ่นอาย "รัฐประหาร" กลับมาตามหลอนคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 อีกครั้ง โดย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ออกมาส่งเสียงเตือนทุกฝ่ายอย่าสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร

"ถึงปี 2568 แล้วยังไม่มีใครกล้าพูดว่าการรัฐประหารหรือการนองเลือดจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะเรายังไม่เรียนรู้จากความผิดพลาด" ปริญญากล่าวไว้ในวันรำลึก 33 ปี พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันป้องกันไม่ให้ประชาธิปไตยล้มเหลว จนกลายเป็นเงื่อนไขให้ทหารออกมายึดอำนาจ

ในขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคสร้างไทย เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายหนีของลูกพรรค เรียกร้องให้สร้างการเมืองสุจริต ในวันที่ประเทศอยู่ในภาวะเสมือนไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศและเข้าใกล้การเป็นรัฐล้มเหลวเข้าไปทุกที

แต่ในมุมของผู้กองธรรมนัส กลับมองปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทย เป็นเรื่องปกติของการเมืองที่เชื่อว่าจะไม่มีเหตุให้ "จบด้วยการทหาร" และสุุดท้ายจะตกผลึกด้วยการเจรจา พร้อมย้ำว่า ไม่มีการเปลี่ยนขั้ว ไม่มีใครถูกเขี่ยพ้นรัฐบาลอย่างที่มีกระแสข่าว

ทว่าลึก ๆ ผู้กองธรรมนัส ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ มองการเมืองวันนี้ต้องประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา แต่ก็ยังเชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม และสุดท้ายแล้ว "ไม่มีใครผิดหวังถ้าคุยกันได้"

แล้วถ้าคุยกันไม่ได้ล่ะ?!

ถึงตอนนั้น คงต้องไปหาทางกันเอาเอง เพราะหากออกทางประตูไม่ได้ ก็ต้องไปกระโดดออกทางหน้าต่างหรืออาจต้องทำลายฝาเรือนเป็นทางออก ก็ว่ากันไป

สุดท้ายในภาวะที่การเมือง เป็นการเล่นกันเองของนักการเมือง ส่วนประชาชนถูกกันออกไปอยู่ในฐานะคนดูอย่างเดียว ต้องรอจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่โน่นแหล่ะ ถึงจะได้สิทธิได้เสียงกลับมาอีกครั้ง 

แต่หากนักการเมือง ยังขืนเล่นการเมืองกันเลยเถิด ขยันสร้างเงื่อนไขกันรายวันไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้บางคนเริ่มวิตกว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจไม่หยุดอยู่แค่ ปรับครม. ยุบสภาหรือลาออกเท่านั้น

เกมอาจจะโอเวอร์เสียก่อน?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์