มนพร สั่งเกาะติด อินเดีย-ปากีฯเดือด กระทบบินไทยอียู

11 พ.ค. 2568 - 06:13

  • ‘มนพร’ สั่งวิทยุการบินฯ เฝ้าสถานการณ์อินเดีย-ปากีสถานใกล้ชิด ห่วงกระทบการเดินทาง-โลจิสติกส์

  • ไทยร่วมวง ICAO ถกแนวทางรับมือปิดน่านฟ้าอินเดีย-ปากีสถาน

  • ชี้วิกฤตการบินเอเชียใต้ สะเทือนสายป่านเศรษฐกิจไทย-ยุโรป การบินต้องอ้อม

มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เผย จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถาน ซึ่งนำไปสู่การปิดบางเส้นทางการบินในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเที่ยวบินจากประเทศไทยไปยังยุโรป ที่จำเป็นต้องบินผ่านน่านฟ้าทั้งสองประเทศ เบื้องต้นได้สั่งการให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“ดิฉันได้กำชับให้ บวท. รายงานสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อประเมินผลกระทบต่อการบินพาณิชย์ของไทย โดยเฉพาะเส้นทางยุโรปที่ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางบิน ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาบินเพิ่มขึ้น และอาจมีผลต่อความสะดวกในการเดินทางของผู้โดยสาร” มนพร กล่าว 

ขณะเดียวกัน ไทยได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน “India - Pakistan Airspace Contingency Coordination Team” ซึ่งจัดตั้งโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยมีตัวแทนจากอินเดีย ปากีสถาน ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเส้นทางบิน รวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ และร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา 

ทั้งนี้ ผู้แทนจากอินเดียและปากีสถานได้รายงานว่า การบริหารจราจรทางอากาศในพื้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ ที่สามารถควบคุมได้ แต่ยังคงปิดเส้นทางบินบางเส้นทางเพื่อปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง ในขณะที่ผู้แทนจาก IATA ได้รายงานว่า สายการบินส่วนใหญ่ทำการบินโดยใช้เส้นทางบินสำรองที่อาจส่งผลให้มีระยะทางและระยะเวลาทำการบินยาวขึ้น 

นอกจากนี้ ผู้แทน IATA ในที่ประชุมยังขอให้อินเดียประสานงานกับภาคความมั่นคงเปิดเส้นทางบินผ่านพื้นที่ความมั่นคง บางเส้นทาง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ ซึ่งอินเดียยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งไทยก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน เนื่องจากทุกเที่ยวบินที่จะทำการบินไปยังยุโรปต้องผ่านทั้ง 2 ประเทศ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางและบินอ้อม ซึ่งใช้เวลาทำการบินเพิ่มขึ้น 

สุรชัย หนูพรหม รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. เผยด้วยว่า แม้การจราจรทางอากาศในพื้นที่จะยังควบคุมได้ แต่บางเส้นทางยังคงปิดเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง ส่งผลให้หลายสายการบินต้องใช้เส้นทางบินสำรอง ซึ่งทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงและเวลาเพิ่มขึ้น 

“เส้นทางที่อ้อมไกลออกไปไม่เพียงแต่ทำให้เที่ยวบินล่าช้า แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการดำเนินงานของสายการบิน และอาจกระทบราคาตั๋วโดยสารในอนาคต ขณะที่การขนส่งสินค้าทางอากาศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องรักษาเวลา เช่น อาหารสดและสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก” สุรชัย กล่าว 

ทั้งนี้ บวท. จะรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้โดยสารและผู้ประกอบการได้รับข้อมูลล่าสุดอย่างทันท่วงที โดยรัฐบาลไทยอยู่ระหว่างประสานงานใกล้ชิดกับ ICAO และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางลดผลกระทบในระยะสั้นและวางแผนรองรับในระยะยาว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์