กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเดินหน้าเสนอให้ ‘ก๊าซกระป๋อง’ เข้าสู่บัญชีสินค้าควบคุม หลังพบมีการใช้งานผิดประเภทโดยเฉพาะในร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจต้องปรับต้นทุนด้านความปลอดภัย ขณะที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มเผชิญราคาบริการที่สูงขึ้น
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผย ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งผลักดันการออกประกาศให้ก๊าซกระป๋องกลายเป็น ‘สินค้าควบคุม’ เนื่องจากปัจจุบันมีการนำไปใช้ซ้ำอย่างผิดวิธี และบรรจุก๊าซ LPG ซึ่งมีกำลังดันสูงกว่าก๊าซบิวเทนที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการระเบิดสูง
“หลายร้านปิ้งย่าง โดยเฉพาะร้านขนาดเล็กหรือรถเข็น มักใช้ก๊าซกระป๋องเพื่อลดต้นทุนและความคล่องตัว แต่กลับมีการนำกระป๋องที่ใช้แล้วไปบรรจุซ้ำ ซึ่งถือว่าอันตรายอย่างมาก ไม่ใช่แค่ผิดกฎหมาย แต่ยังเสี่ยงชีวิตลูกค้าและพนักงานในร้านด้วย” เอกนัฏ กล่าว

ด้านวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. ระบุ ปัจจุบันมาตรฐาน “กระป๋องบรรจุก๊าซบิวเทน – ไม่สามารถบรรจุซ้ำได้” (มอก. 4449-2568) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนมิถุนายน 2568 โดยในช่วงแรกจะเป็น ‘มาตรฐานภาคสมัครใจ’ ก่อนเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้เป็นมาตรฐานบังคับ และสินค้าควบคุมในลำดับถัดไป ทั้งนี้ ตัวกระป๋องก๊าซบิวเทน ออกแบบให้ “ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง” ห้ามบรรจุซ้ำโดยเด็ดขาด โดยหากเติมก๊าซ LPG ซึ่งแรงดันสูงกว่า กระป๋องอาจระเบิด เพราะทนแรงดันไม่ได้
สำหรับมาตรฐาน มอก. 4449-2568 ฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้กระป๋องต้องผ่านการทดสอบด้านความทนแรงดันผิดรูป แรงดันระเบิด และต้องมีระบบนิรภัย เช่น ระบบระบายแรงดันและวาล์วตรวจจับอุณหภูมิ ที่จะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อกระป๋องร้อนเกินระดับปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงระเบิด
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อบังคับให้ผู้ผลิตติดคำเตือนบนฉลากชัดเจน เช่น ห้ามบรรจุซ้ำ เก็บให้พ้นแสงแดดและเปลวไฟ และต้องติดตั้งใช้งานตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด โดยนายวันชัยระบุว่า
“ขณะนี้ สมอ. เตรียมนำเรื่องเสนอบอร์ด เพื่อพิจารณายกระดับจากมาตรฐานสมัครใจ เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็วที่สุด”

ผู้ประกอบการปิ้งย่างเตรียมปรับแผน – ลูกค้าอาจต้องจ่ายแพงขึ้น
ด้านผู้ประกอบการร้านอาหารที่ใช้ก๊าซกระป๋อง เตรียมรับผลกระทบจากต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น หากต้องเปลี่ยนไปใช้กระป๋องใหม่ทุกครั้ง หรือเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิงให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะร้านขนาดเล็กที่มีงบจำกัด
“ตอนนี้ใช้กระป๋องละประมาณ 30-35 บาท ถ้าต้องเปลี่ยนใหม่ทุกครั้งจริงๆ ต้นทุนอาจเพิ่มหลายพันบาทต่อเดือน ซึ่งสุดท้ายก็ต้องสะท้อนมาที่ราคาลูกค้า” เจ้าของร้านปิ้งย่างริมทางแห่งหนึ่งให้ความเห็น
อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้บริโภคเองก็เริ่มแสดงความกังวล โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยหลังจากมีรายงานข่าวอุบัติเหตุกระป๋องก๊าซระเบิดในร้านอาหารหลายกรณีในช่วงที่ผ่านมา
ในระยะสั้น รัฐบาลยังคงเน้นการรณรงค์ให้ร้านค้าใช้ก๊าซกระป๋องอย่างถูกวิธี และไม่บรรจุซ้ำโดยเด็ดขาด ขณะที่ระยะยาวอาจมีแนวโน้มบังคับใช้มาตรฐานเข้มข้นมากขึ้น เพื่อป้องกันความสูญเสียทั้งด้านชีวิตและเศรษฐกิจ
